802.11ac Wave 1 vs Wave 2 ต่างกันตรงไหน

คนที่คุ้นเคยกับ Wi-Fi คงทราบดีว่า 802.11ac (Wi-Fi 5) มี 2 เวอร์ชั่นคือ ac Wave 1 กับ ac Wave 2 แต่อาจจะไม่รู้ว่าทำไมถึงต้องแบ่งเป็นสองเจนเนอเรชั่น ต่างกันยังไง และสำหรับผู้ที่ยังใช้ AP ac Wave 1 อยู่ ถึงเวลาต้องอัพเกรดหรือยัง เรามาหาคำตอบกันครับ

IEEE 802.11ac หรือ Wi-Fi 5 เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2013 เป็นมาตรฐานใหม่ที่มาเสริม IEEE 802.11n

ที่บอกว่ามาเสริม ไม่ได้มาแทนเนื่องจาก ac ทำงานในย่านความถี่ 5GHz เท่านั้น ดังนั้น AP รุ่นใหม่ๆที่เราใช้กันทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะเป็น Dual-Band หรือ AP ที่ทำงานพร้อมกันสองย่านความถี่ โดยใช้มาตรฐาน “n” สำหรับ 2.4GHz และ “ac” ที่ 5GHz

กำเนิด 802.11ac

Wi-Fi ตัวแรกที่เข้าตลาดแมสคือมาตรฐาน 802.11b ปี 1999 (มาตรฐาน Wi-Fi ตัวแรกสุดคือ 802.11 “Prime” ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1997 แต่ด้วยความเร็วสูงสุด 2Mbps เลยไม่เป็นที่นิยม ณ เวลานั้น) จากนั้นก็มีการพัฒนาต่อยอดมาเป็น “g” “n” “ac” เรื่อยๆจนถึง 802.11ax ที่กำลังจะเป็นมาตรฐานหลักในปีสองปีข้างหน้า

ปัญหาใหญ่ของ Wi-Fi ก่อน 802.11ac คือความเร็ว โดยหากนำไปเปรียบกับ Ethernet ที่สามารถรับส่งข้อมูลได้เป็น Gigabit แล้ว Wi-Fi ที่วิ่งอยู่แค่ร้อยต้นๆนี่เรียกว่าช้า ดังนั้น วัตถุประสงค์หลักของมาตรฐาน 802.11ac คือเพิ่มความเร็วให้ทะลุ 1Gbps

ผลที่ได้ 802.11ac ในทางทฤษฎีสามารถเชื่อมต่อที่ความเร็วสูงสุดถึง 6.933Gbps ตี 802.11n ที่ 600Mbps กระจุยกระจาย

แต่ช่วงแรกๆที่ IEEE รับรองมาตรฐาน 802.11ac มีฟีเจอร์หลายตัวยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ แต่ก็ดีพอที่จะเริ่มขายในตลาด แทนที่ต้องเสียเวลารออีกหลายปีจนกว่าเทคโนโลยีจะสมบูรณ์ ทาง Wi-Fi Alliance จึงแบ่ง ac เป็นสองกลุ่ม และทำการ Certify อุปกรณ์ตามมาตรฐานใหม่ที่ตัวเองกำหนดขึ้น จึงเป็นที่มาของ ac Wave 1 และ ac Wave 2

ac Wave 1 vs ac Wave 2

เนื่องจาก 802.11ac อิงตามมาตรฐานของ IEEE ดังนั้น Wave 1 และ Wave 2 จึงเป็นเทคโนโลยีเดียวกัน แค่เปิดตัวออกมาเป็นรุ่นๆ โดยรุ่นแรกใส่ฟีเจอร์มา 80-90% และอีก 3 ปีต่อมารุ่นที่ 2 เติมให้ครบ 100

Wave 1 และ Wave 2 หลักๆแล้วต่างกันแค่ 3 เรื่อง

Spatial Streams

อุปกรณ์ ac Wave 1 รองรับ Spatial Streams ได้ 3 เสา ส่วน Wave 2 จะรองรับได้สูงสุด 4 เสา ยิ่งจำนวนเสามาก Data Rate ก็ยิ่งสูง ฉะนั้น AP Wave 2 4×4 สามารถรับส่งข้อมูลได้เร็วกว่า Wave 1 3×3 ที่ 25%

บทความแนะนำ MIMO and Spatial Streams

Channel Width

ac Wave 2 สามารถ ใช้ Channel 160MHz ได้ หรือ Bond ช่องสัญญาณขนาด 80MHz สองช่องเข้าด้วยกันเป็น 160MHz ส่วน ac Wave 1 รองรับ 20MHz 40MHz และ 80MHz เท่านั้น

ขนาดช่องสัญญาณก็ส่งผลโดยตรงกับ Data Rate โดยที่ช่องยิ่งกว้าง สามารถดันข้อมูลออกไปได้ยิ่งเยอะในเวลาที่เท่ากันถ้าเทียบกับช่องที่แคบกว่า

บทความแนะนำ รู้จัก Channel & DFS

MU-MIMO

Wave 2 เปิดตัว MU-MIMO หรือ Multi-User Multiple Input Multiple Output ซึ่งเป็นเทคนิคในการเพิ่มประสิทธิภาพและความเร็วในการส่งสัญญาณจาก AP ไป Client ได้หลายๆเครื่องพร้อมๆกัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความเร็วในการเชื่อมต่อและรองรับจำนวน Client ได้มากขึ้น

ใน Wave 1 ใช้ SU-MIMO (ย่อมาจาก Single User) ดังนั้นตัว AP เองสามารถส่งข้อมูลให้ Client ได้แค่ทีละเครื่อง

802.11ac Wave 1 ล้าสมัยหรือยัง

ในปี 2564 ผมเชื่อว่ายังมีหลายบ้าน หลายองค์กรที่ยังใช้ ac รุ่นแรกกันอยู่ ถ้าดูตามอายุอุปกรณ์ก็น่าจะ 7-8 ปีได้ ส่วนเทคโนโลยีทดแทนก็มี ac Wave 2 กับ 802.11ax คำถามที่ผมถูกถามบ่อย คือเราควรอัพเกรด AP หรือยัง ถ้าจะอัพควรอัพเป็นตัวไหน

จริงๆแล้วคำตอบขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่นถ้าเป็น Wi-Fi บ้านทั่วไป ใช้เน็ต ADSL 100Mbps มีอุปกรณ์เกาะอยู่ไม่เกิน 10 เครื่อง ในเคสนี้ถึงจะอัพเป็น ax ก็ไม่เห็นความแตกต่าง เพราะ ac Wave 1 สามารถรองรับความเร็วสูงสุดที่ 866.7Mbps ซึ่งเหลือเฟือสำหรับเน็ตบ้าน 100Mbps

ส่วนตัวผมจะรอให้มันพัง หรือใกล้พังก่อนค่อยเปลี่ยน ถึงวันนั้นก็เปลี่ยนไปใช้ ax เลยเพราะราคาก็ไม่ต่างกับ ac Wave 2 เท่าไหร่แล้วแถมได้เทคโนโลยีที่ใหม่กว่าสดกว่า

ถ้าเป็น Wi-Fi องค์กรที่เปิดใช้งาน 24x7x365 หรือใช้ในพื้นที่ที่มีผู้ใช้งานเยอะ เช่นหอประชุม เคสนี้ควรพิจารณาเปลี่ยน และผมแนะนำให้ข้าม ac Wave 2 ไป 802.11ax เลยเพราะ ax จะโดดเด่นในเรื่องการรองรับจำนวนผู้ใช้จำนวนมาก ถ้า ac เก่งเรื่อง speed ax เก่ง high-density

บทความแนะนำ What is Wi-Fi 6 and Does your Organization Need It?

อีกเรื่องที่เราต้องพิจารณาสำหรับองค์กรคือการเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน และ End of Support / End of Life ของอุปกรณ์ โดยตัวมันเองอาจจะยังใช้งานได้อยู่ แต่ทางบริษัทผู้ผลิตจะหยุด support และไม่ออก patch ไม่ออก firmware ใหม่ๆ มาแก้ Bug ฉะนั้นในกรณีขององค์กรที่ต้องอาศัย Wi-Fi ในการทำงาน ผมแนะนำให้เปลี่ยน AP ใหม่ทุกๆ 5 ปีครับ

อ้างอิง

Subscribe to Wi-Fi Resource Center by SIAM Wireless

เพื่อไม่ให้พลาดข่าวสารและบทความใหม่ๆ มาติดตามกันนะครับ
[email protected]
Subscribe