6 กรณีที่เราควรจะเลือกใช้ External Antenna

งาน Ekahau Wi-Fi Day 2024 ทาง Dennis Burrell Senior Product Manager จาก Ventev ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านงานผลิต external antenna และ AP mounting accessories พรีเซนต์ "Six Environments Where External Antennas Are Essential" ผมเลยขอสรุปเนื้อหาและเพิ่มประสบการณ์ส่วนตัว ใส่ไข่อีกนิดหน่อยเพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่าน 😁

1️⃣ เพดานสูงเกิน 7.5 เมตร (25 feet)

เคสนี้ผมจะเจอบ่อยที่คลังสินค้าซึ่งส่วนใหญ่ AP จะถูกแขวนไว้สูงเกิน 7.5 เมตร บางที่เกิน 10 หรือ 15 เมตรก็มี การใช้ omni-directional ทั่วไปจะเจอปัญหาหลัก ๆ อยู่ 2 เรื่องคือ สัญญาณอ่อนใต้ AP เพราะ signal profile ของ omni ทั่วไป (แบบที่ไม่ใช่ down-tilt omni) จะเป็นทรงโดนัทไม่ใช่ลูกบอล สัญญาณจะกระจายไปด้านข้าง ไม่ใช่ด้านล่าง เรื่องที่สองคือ low-power client เช่นพวก handheld device / barcode scanner มีกำลังส่งค่อนข้างต่ำและถ้าพื้นที่มี noise หรือ interference สูง AP ยิ่งไม่ได้ยิน การที่เราใช้ external directional antenna แก้ปัญหานี้ได้ทั้งสองจุด หนึ่ง สัญญาณจาก AP ลงมาถึงพื้นเต็มเม็ดเต็มหน่วย client ได้ยิน AP ชัดขึ้น และสอง ความสามารถในการได้ยินของ AP (received sensitivity) ก็ดีขึ้นตามเสาที่ใช้ ตัว client ยังคงกำลังส่งเท่าเดิม แต่ AP ได้ยินชัดขึ้น ช่วยให้ SNR สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่บ่งชี้คุณภาพของการสื่อสารไร้สาย.

2️⃣ ไม่สามารถติด AP ตรงตำแหน่งที่เราต้องการ

หลายครั้งเราไม่สามารถติด AP ในจุดที่ดีที่สุดได้เนื่องด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่นโดนเสาคอนกรีตบัง หรือไม่มีจุดที่ติด AP ได้ กรณีเช่นนี้มันจะมีพวกเสาพิเศษที่หน้าตาไม่เหมือนกับเสาทั่วไป เช่นเสาแบนที่ซ่อนอยู่ใต้พื้น บอกตรง ๆ ผมเองไม่เคยใช้เสาประเภทนี้แต่ต่างประเทศเค้านิยมกันมาก .

3️⃣ ทางยาว ๆ เช่น ทางเดินบนชั้นแขกโรงแรม หรือ ซอยยาว ๆ ในคลังสินค้า

ปัญหาของ omni-directional AP คือเราไม่สามารถกำหนดทิศทางของสัญญาณได้ ถ้าติด AP กลางซอยยาว หัวซอย ท้ายซอยอาจจะได้สัญญาณอ่อน ต้องเพิ่มจำนวน AP แต่ถ้าเลือกใช้ patch antenna อาจจะมีเสารุ่นที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งซอยโดยใช้ AP แค่ตัวเดียวได้.

4️⃣ พื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำหรือสูงกว่า operating temperature ของ AP

ใน spec sheet ของ AP จะระบุอุณหภูมิทำงานที่เหมาะสม การที่เราติด AP ในพื้นที่ร้อน หรือ เย็นเกินไปอาจจะลดอายุการทำงานของ AP ได้ เช่นร้อนจัดพวก chipset อาจจะ overheat ส่วนเย็นจัดอาจจะเสี่ยงเรื่องการควบแน่นกลั่นตัวเป็นหยดน้ำไหลลงแผงวงจร ผมเคยไป survey โรงงานผลิตผลไม้แช่แข็งส่งออก จำได้ว่าห้องเก็บทุเรียนแช่แข็งใช้ความเย็นต่ำกว่า -5 องศา (แถมตอนไป survey ลคก็ไม่บอกว่ามันเย็นติดลบ จะได้เตรียมเสื้อกันหนาวไปด้วย)

ไอเดียคือติดตั้งตัวเสาในห้องเย็น เจาะรูร้อยสายไปเสียบกับ AP ที่ติดนอกห้องในอุณหภูมิปกติ

5️⃣ พื้นที่มี AP หนาแน่นถ้าเรามี AP มากกว่าจำนวนช่องสัญญาณเราจะเจอปัญหา channel interference โดยเฉพาะถ้า AP ของเราทั้งหมดเป็นชนิด omni-directional ซึ่งกระจายสัญญาณออกเป็นวงกว้าง แม้ว่าสัญญาณจะอ่อนลงเรื่อย ๆ แต่ขอบ ๆ ก็ยังแรงพอที่จะกวนไม่ให้อุปกรณ์ตัวอื่นส่งสัญญาณ ฉะนั้น การเปลี่ยนมาใช้ narrow-beam directional antenna สามารถช่วยลดการฟุ้งกระจายของสัญญาณ ลดการกวนการทำงานของ AP ตัวอื่น ๆ .

6️⃣ พื้นที่เน้นความสวยงาม

เคสนี้ผมเจอบ่อยในโรงแรม โจทย์คือติด AP ในห้องได้แต่ต้องไม่ให้เห็น AP ฉะนั้นวิธีการแก้ปัญหาของ SI แต่ก่อนคือเอา AP ไปซ่อนไว้บนฝ้า ใต้ท่อน้ำใต้ duct air ที่ไม่มีอากาศถ่ายเท และเสี่ยงน้ำหยดใส่อีก 😏

ส่วน คุณภาพ Wi-Fi คือไม่ต้องพูดถึง แทบจะไม่มี (ตอนนี้ดีหน่อย ย้าย AP มาติดหลังทีวี) แต่ถ้าเราเลือกใช้ external antenna ที่กลมกลืน ก็ช่วยทำให้พื้นที่ดูไม่จกตาและยังช่วยเรื่องการใช้งาน Wi-Fi แต่จากประสบการณ์ทำงานโรงแรมมามากว่า 10 ปี น้อยยยยยมาก ที่คนโรงแรมเลือกใช้วิธีนี้

Wi-Fi Day 2024 | Ekahau
Wi-Fi Day 2024 | Ekahau

Subscribe to Wi-Fi Resource Center by SIAM Wireless

เพื่อไม่ให้พลาดข่าวสารและบทความใหม่ๆ มาติดตามกันนะครับ
[email protected]
Subscribe