Wi-Fi Heatmap: Passive vs Active Survey
หนึ่งในงานบริการหลักของ SIAM Wireless คืองาน Wi-Fi heatmap ให้กับองค์กร ซึ่งปีนี้เราทำ survey ค่อนข้างเยอะ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 site บทความนี้เลยจะขอมาเหลาเรื่องการทำ Heatmap เผื่อเป็นประโยชน์กับท่านที่สนใจครับ
วิธีการทำ heatmap หลัก ๆ จะมีอยู่ 3 วิธีคือ Predictive Survey, Active Survey และ Passive Survey
Predictive คือการ Survey โดยใช้ Software Simulate เช่นใช้ Ekahau หรือ Hamina แต่บทความนี้เราจะมาคุยเกี่ยวกับ Passive และ Active ซึ่งเป็นการ Survey ที่หน้างานจริง
หลายคนเข้าใจว่าการทำ Passive Survey คือการ Survey ก่อนติดตั้ง และ Active คือทำหลังการติดตั้ง แต่จริง ๆ แล้ว Passive Survey คือการ survey แบบดักฟังสัญญาณในแต่ละ channel โดยไม่มีการ Associate หรือเกาะ SSID ส่วน Active Survey คือจะใช้ client เกาะกับ SSID ระหว่างการเดิน survey
ความแตกต่างอยู่ที่ Active Survey นอกจากจะได้ data ทั้งหมดที่ได้จากการทำ Passive Survey แล้ว เราจะได้ data จากการเชื่อมต่อเช่นค่า Jitter, Packet Loss, Latency
ถ้าอ่านดูแล้วเหมือนเราควรทำ Active Survey ใช่ไหมครับ
ด้วยคำว่า Active Survey ยังไงก็ฟังดูดีกว่า Passive แต่จริง ๆ แล้วเราปกติจะเดิน Passive เป็นหลักเว้นแต่ทางลูกค้าต้องการให้เราทำ Active เพราะเราต้องการตัดปัจจัยเกี่ยวข้องของ Client ออกจากตัว heatmap
ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพ หากเราต้องการเก็บค่า ping loss โดยใช้ iPad ในการ survey สมมุติว่าเราเก็บได้ที่ 5% ในโกดัง แต่ถ้าการใช้งานจริงลคไม่ได้ใช้ iPad แต่ใช้เป็นพวก Barcode Scanner ค่า Loss ของอุปกรณ์จะมีแนวโน้มที่สูงกว่า 5% ที่ได้จาก iPad เพราะความสามารถของ client แตกต่างกัน
อีกเรื่องคือค่า RSSI อาจจะเพี้ยนจาก Transmit Beamforming (TxBF) ที่เป็นผลจากการเชื่อมต่อ สัญญาณ Coverage/RSSI อาจจะจะสูงกว่าที่เป็นจริงประมาณ 2-3 dBm
ฉะนั้นการทำ Passive Survey จะช่วยเราตัดปัญหา client-dependent data point ออก ทำให้เราได้ raw data ที่นำไปเปรียบเทียบและวิเคราะห์ได้
คำถามต่อมาคือ แล้ว client ที่ใช้ในการทำ passive มันไม่เพี้ยนเหรอ ถ้าใช้ Laptop 2 เครื่อง survey ค่ามันจะเท่ากันไหม.คำตอบคือไม่เท่าครับ เพราะ Wi-Fi NIC สองตัว ถึงแม้ว่าจะเป็นยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน ค่า RF ที่อ่านได้อาจจะไม่เท่ากัน บางตัวนี่ต่างกันเยอะมาก เคยใช้ Lenovo ลค 2 เครื่อง วัดสัญญาณจาก AP ตัวเดียวกัน ที่ตำแหน่งเดียวกัน เฉลี่ยเครื่องแรกได้ -57dBm อีกเครื่องได้ -63dBm
อ้าว แล้วงี้ต้องเชื่ออันไหนล่ะ
นั้นแหละครับ เป็นเหตุผลที่เราต้องใช้อุปกรณ์วัด RF เฉพาะทางอย่าง Sidekick หรือ Sidekick 2 ที่มีค่า deviation ต่ำ หมายถึงถ้าเราใช้ SK 10 ตัวมาวัดค่า RF ที่จุดเดียวกัน ค่าที่ได้ควรจะใกล้เคียงกัน ซึ่งทาง Ekahau เองก็ชูความสามารถในด้านนี้
เขียนมายืดยาว สรุปคือ
- Survey มี 3 ประเภท คือ Predictive, Passive และ Active
- Passive Survey ไม่ใช่การ Survey ก่อนติดตั้ง และ Active Survey ไม่ใช่การ Survey หลังการติดตั้ง
- Active Survey จะเก็บค่า ping loss และ latency ซึ่ง Passive Survey ทำไม่ได้ แต่ค่าที่ได้จะขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่ใช้ Survey
- Client แต่ละตัวมีความสามารถในการรับและส่งสัญญาณไม่เท่ากัน ฉะนั้นค่าที่เราได้จาก client A อาจจะไม่เท่ากับ client B ดังนั้น เราควรวัดจาก client จริงที่ใช้ในพื้นที่นั้น
- Passive Survey เป็น Best Practice เพราะตัดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ client ออกไป